องค์กรมีชีวิต...องค์กรวิถีใหม่ของมนุษย์
4 ปีที่ผ่านมา มีกลุ่มที่ปรึกษา / Facilitator กลุ่มหนึ่งที่รวมตัว กัน ในชื่อ “วิวัฒนากร” (Organizational Evolution Facilitator) เหล่าจอมยุทธ์กลุ่มนี้ร่วมกัน ทำงานกับการสร้างวิวัฒนาการองค์กร ไปสู่ การเป็น “องค์กรมีชีวิต” (Living Organization) เป็นงานที่คนและจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจ ติดตาม และเชิญพวกเขาเข้าไปช่วยพัฒนา
บทความนี้ เราได้ชวนผู้ที่บุกเบิกกลุ่ม และทำงานกับเรื่องนี้มายาวนาน
อ.บอมส์ นราวิทย์ นาควิเวก ผู้ก่อตั้ง Excellent People และกลุ่มวิวัฒนากร เขาค้นพบอะไร ถึงหักดิบ กระโดดจากการทำงานในองค์กร กระบวนทัศน์แบบเก่า มาสู่เส้นทางขององค์กรมีชีวิต
“ผมทำงานพัฒนาองค์กร มาตั้งแต่เริ่มอาชีพ แต่…..ผมไม่เคยรู้เลย ว่า สิ่งที่เคยทำ ไม่ช่วยให้คนและองค์กรได้จริงๆ เรามีแต่สิ่งปลูกสร้างที่เพิ่มขึ้น แต่พลังชีวิตของสมาชิกกลับถดถอย พวกเขาค่อยๆ หลบซ่อนตัวเอง หลายคนเหนื่อยล้า ราวกับกรำศึกมายาวนาน”
อาจารย์บอมส์ เล่าถึงจุดเริ่มของการเดินทางสู่ โลกใหม่ เขาพบความทุกข์จากงาน อาจารย์พยายามนำสิ่งใหม่ๆ สิ่ง(ที่ตัวเองคิดว่า)ดี เข้ามาติดตั้งในองค์กร แต่กลับพบว่าเพื่อนร่วมงานเริ่มมีความสุขน้อยลง หลายคนลาออก จากไปทำงานในที่ใหม่ พวกเขารู้สึกลำบาก ยุ่งยากมากขึ้นกับการพัฒนา
“ผมเพิ่งพบว่าสิ่งที่ทำ สิ่งที่รู้ ไม่เหมาะกับมนุษย์ มีบางสิ่งที่ขาดหายไป ผมจึงออกแสวงหาความจริง”
การเดินทางออกจากโลกเก่า ทำให้อาจารย์ค้นพบว่า ที่ผ่านมาในสิ่งที่องค์กรทำ นำมาใช้ในการบริหารองค์กร เป็นสิ่งที่ไม่สัมพันธ์กับธรรมชาติของมนุษย์ มนุษย์มีความลับที่สลับซับซ้อนซ่อนอยู่ พวกเขาไม่ได้ตื่นขึ้นมาแค่เพียงมาทำบางสิ่งบางอย่างตามสั่ง วนๆซ้ำๆ ใช่…..จริงอยู่ พวกเขาอาจจะทำได้ แต่เขากลับไม่มีความสุข จิตวิญญาณ พลังชีวิตของพวกเขา ได้ค่อยๆ จางลง มีงานที่ศึกษากันในทางจิตวิทยา ชีววิทยา มากมาย แต่เราไม่เคยรู้ความลับเหล่านี้มาก่อน นั่นคือ ประกายแสงของความหวังที่เริ่มทำให้เกิดการทำงาน ของอาจารย์และทีม "ผมอยากขอบคุณ Frederic Laloux ผู้เป็นหนึ่งแรงบันดาลใจ และให้ความไว้วางใจกับทีมเราในการถ่ายทอดเรื่องราวขององค์กรมีชีวิต จากหนังสือ Reinventing Organizations"
ความกลัวที่ปกคลุม
ระบบเดิม ที่เราใช้ในการปกครอง การบริหารมาอย่างยาวนาน เป็นระบบ โครงสร้างแบบอำนาจเชิงเดี่ยว มีรากฐานความเชื่อมาจากการมองมนุษย์เป็น “แรงงาน” เราเริ่มต้นจากการเชื่อว่า คนไม่เก่ง เกียจคร้าน ชอบเลี่ยงงาน ชอบการแลกเปลี่ยน ความเชื่อหรือสมมติฐานนี้ เป็นต้นทางของการก่อสร้างโครงสร้าง ระบบ ที่ถูกนำไปใช้ควบคุม จัดการคน
นานมากแล้ว ที่เราต่างใช้ชีวิต(ในองค์กร) อยู่กับความไม่วางใจกัน เราใช้ชีวิตร่วมกันด้วยความระแวง หวาดกลัว คนเบื้องบนกลัวสมาชิกจะไม่ทำงาน กลัวว่าพวกเขาจะทำงานผิดพลาด กลัวพวกเขาจะทำไม่เต็มที่ ไม่คุ้มค่า ส่วนสมาชิก ก็ต่างกลัว กลัวจะเป็นคนผิด กลัวถูกลงโทษ กลัวถูกลดคุณค่า กลัวไม่เป็นที่รัก ต่างฝ่ายต่างมีความกลัว จริงอยู่ความกลัว ก็อาจจะช่วยผลักเราไปพบกับสิ่งใหม่ๆ ได้ แต่เราอยู่กับมันได้ หรือ จริงๆ เรากำลังหนี เลี่ยงที่จะอยู่ กันแน่
“มนุษย์เรา มีเซ็นเซอร์ ที่อัจฉริยะ เรารับรู้ความกลัวได้รวดเร็ว และทันใดนั้น เราก็จะป้องกันตัวทันที”
ชีวิตที่เพียงเพื่อแค่อยู่รอด
สัญญาณเตือน ที่บ่งบอก วิกฤติหนึ่งขององค์กรมากๆ คือ การมีชีวิตเพียงเพื่ออยู่รอด หากลองจินตนาการตามไปด้วย ถ้าพวกเขามาทำงานในแต่ละวัน เพียงแค่ทำไปตามหน้าที่ รับผลตอบแทน ไม่จ่ายเพิ่ม ก็จะไม่ยอมทำเพิ่ม พยายามให้ตัวเองอยู่รอดปลอดภัยก็พอแล้ว ถ้าเป็นเช่นนั้นจะเป็นยังไง อาจารย์บอมส์เน้นย้ำ ที่พูดถึงตรงนี้ไม่ได้หมายความว่าต้องให้องค์กรจ่ายเงินเพิ่ม
“ธรรมชาติของมนุษย์นั้น พวกเขามีความสร้างสรรค์ มีความปรารถนาที่จะทำสิ่งใหม่ๆ ที่มีคุณค่าอยู่แล้ว พวกเขาต้องการมีตัวตน การได้ทำเพื่อผู้อื่น ได้ให้ เป็นสิ่งทำให้ชีวิตของพวกเขามีความหมาย”
จุดเริ่มต้นของ การพาทุกคนออกจากหลุมหลบภัย (Comfort Zone) คือ การอนุญาตให้พวกเขามีชีวิต เริ่มปลดเปลื้องคำสาปแห่งความกลัว ด้วย ความไว้วางใจและความปลอดภัยทางจิตใจ (Psychological Safety) เป็นจุดเริ่มต้น ที่องค์กรและสมาชิกทุกคน ต้องช่วยการสร้างและมอบให้แก่กัน ความปลอดภัยทางจิตใจไม่ใช่ภาระเพียงเฉพาะผู้บริหาร แต่ทุกคนต้องช่วยกันสร้าง ช่วยกันดูแล
“เราต้องเริ่มเอาหัวใจ มาใช้ร่วมกับหัวคิดนะ ….. เรารู้ทั้งรู้ว่า ความสุข คือ สิ่งที่ช่วยให้เกิดคุณค่า ผลงานที่ดี แต่เรากลับปฏิเสธ การรับรู้ การพูดคุยถึงหัวใจ ความปลอดภัย เป็น ความรู้สึก ต้องใช้ใจรับรู้ ไม่ใช่สมอง”
อาจารย์บอมส์ พูดไว้น่าสนใจในมุมนี้ การที่เราจะเริ่มวางใจต่อกัน ให้ความปลอดภัยแก่กันได้ เราจะต้องเชื่อจากใจจริงว่า สมาชิกทุกคน เป็น เพื่อน พวกเขามีคุณค่า มีศักยภาพ ผู้นำและองค์กรต้องให้ความเคารพในความเป็นมนุษย์ของเขา
สู่….ชีวิตที่มีความหมาย
โลกปัจจุบัน มีคนทำงานจำนวนไม่น้อย ออกเดินทางตามหาคำตอบของ คำถามที่ว่า “ความหมายของชีวิตเราคืออะไร” คนทำงานจำนวนไม่น้อยติดอยู่กับความรู้สึกในเชิงลบ กับชีวิตในการทำงานของเขา พวกเขาแบ่งแยกชีวิตของตนเองกับการทำงานอย่างชัดเจน หลายคนเบื่อวันจันทร์ เฝ้ารอวันศุกร์ รอที่มีจะมีชีวิตที่อิสระ “พวกเขาเบื่อหน่าย อะไรกันแน่ และกำลังตามหาอะไรกัน”
“ผมออกเดินทาง เพราะคำถามนี้ที่มีต่อตนเอง”
คนกลุ่มใหญ่ มีชีวิตอยู่ในช่วงวัยทำงาน พวกเขาไม่เพียงต้องดูแลตัวเอง แต่มีคนรัก คู่ชีวิต ลูกน้อย และพ่อ แม่ ครอบครัวที่ต้องดูแล “หากช่วยคนกลุ่มนี้ได้ เราจะช่วยคนได้อีกมากเลย”
นี่เป็นประโยค ที่กล่าวออกมาพร้อมกับ พลังที่หนักแน่นของเสียง ผู้ชายคนหนึ่งที่รักหมดใจในวิถีของ องค์กรมีชีวิต เรารับรู้ได้ถึงความตั้งใจจากภายใน ที่ไม่ใช่เป้าหมาย แต่มันมาจากความหมายในเบื้องลึกของจิตใจที่อาจารย์ค้นพบ “วิถีนี้ ช่วยชีวิตผม และสิ่งนี้จะช่วยชีวิตผู้อื่นเช่นกัน”
ความสุข และความหมายของชีวิตอยู่ไม่ไกลเลย เราทุกคนสามารถเริ่มเติมความหมายชีวิตจากการอยู่กับสิ่งที่เราทำตรงหน้า เริ่มจากการสิ่งเล็กๆ ลองรับรู้ความรู้สึก จากหัวใจของเรา ค่อยๆ สัมผัสกับความตั้งใจจากภายใน ความสุขก็จะค่อยๆ ปรากฏขึ้นเอง
“ความสุข ความหมายของชีวิต ไม่ได้มาจากการออกไปตามหา แต่เริ่มต้นที่การกลับเข้ามาในใจ”
อาจารย์บอมส์ แบ่งปันว่า ความสามารถที่จะสุขเป็น เป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญ ที่องค์กรมีชีวิตให้ความสำคัญและฝึกฝนให้สมาชิกขององค์กร ได้รู้จักที่จะเกี่ยบเกี่ยว มองเห็นความงามของชีวิตของตนเอง และผู้อื่น
“ไม่มีใครหรอกที่อยากมาทำงานเพื่อถูกเกลียดชัง ลดคุณค่า พวกเขาปรารถนาจะมีคุณค่า เป็นที่รัก”
ความรัก ความหวัง
“ผมเชื่อว่า เราร่วมกันสร้างองค์กร ที่ใช้ความรักในการขับเคลื่อนและทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ การเปลี่ยนแปลงและสิ่งที่ยิ่งใหญ่บนโลกนี้ ล้วนสร้างจากความรัก”
“ความรัก” เป็นธรรมชาติ เป็นคุณสมบัติพื้นฐาน ของมนุษย์ หากเรารักตัวเอง เราจะใส่ใจตัวเองเป็นอย่างดี หากเรารักในงานที่เราทำ เราจะจดจ่อทำสิ่งนั้นอย่างมีความสุข หากเรารักใครสักคนเราจะทำสิ่งนั้นเพื่อเขา ด้วยหัวใจ ……. ความรักต่อตนเอง การงาน และผู้คน เป็นจุดเริ่มต้นของการทำสิ่งที่มีคุณค่า
เรารู้สึกดีกับใคร ? ระหว่าง ……….. องค์กรที่ต่างทำบางสิ่งให้เรา เพราะอยากได้เงินของเรา
กับ องค์กร ที่ตั้งใจทำบางสิ่งให้เรา ด้วยความรัก ความใส่ใจ
องค์กรมีชีวิต เป็นพื้นที่ที่ให้ผู้คนที่มีความรักต่อสิ่งเดียว หรือ สิ่งที่สัมพันธ์ ได้มาใช้ชีวิตและสร้างคุณค่านั้นร่วมกัน เราเริ่มต้นจากการให้ความรักและนับถือตัวเองได้ในทุกๆมุมที่เป็นเรา ยิ่งขยายไปได้มากเท่านั้น การเปิดใจ มอบความรักให้ผู้อื่นก็มีมากเท่านั้น ไม่เพียงแค่การค้นหาสมาชิกที่ “รักเป็น” การออกแบบโครงสร้าง ระบบ วิถีการอยู่ร่วม ก็ยังช่วยส่งเสริมให้ทุกคนได้ดูแลและใช้ความรัก ในการชีวิตร่วมกันได้ด้วย
“ในความรัก ไม่มีความกลัว ….ความรัก เป็นดั่งออกซิเจน ที่ช่วยให้เรามีชีวิตร่วมกัน”
เมื่อ “ตื่น” ความมีชีวิตก็กลับมา
โลกของธุรกิจ ในปัจจุบัน ให้ความสนใจและยอมรับการมีอยู่ของ “สติ” พวกเขาตระหนักแล้วว่ามนุษย์จะแสดงศักยภาพและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เข้มข้นได้ ถ้าหากพวกเขามีกล้ามเนื้อของการ รู้เนื้อรู้ตัว อย่างแข็งแรง สมาชิกที่รู้สึกตัว และรู้เท่าทันตัวตน มีกำลัง(ภายใน) เพียงพอ ที่จะดูแลอคติและความคิดดักหน้า ดักหลัง ที่ขัดขวางความก้าวหน้าของตัวเองและองค์กร ได้ไวขึ้น จะไม่หลุด หลงเข้าไปวงจรน้ำเน่า ที่พาให้ตัวเองสูญเสียพลังชีวิต โดยอัตโนมัติอย่างที่เคย
“เมื่อเราสามารถดูแลใจเราให้เป็นปกติได้มากขึ้น เราจะมองเห็น…ความจริง…รอบๆตัวได้กว้างขึ้น คมชัดขึ้น เราจะพบทางออก ความเป็นไปได้มากมายที่เปิดทางให้กับเรา”
ความรู้สึกตัว ความมั่นคงจากภายใน เป็น “แก่น” ที่สำคัญ ที่ทำให้เราทุกคนเข้าถึงความมีชีวิตที่แท้จริงได้ ถึงแม้ว่าสิ่งตรงหน้าจะท้าทายเพียงใด เราก็จะอยู่ตรงนั้น และก้าวผ่านไปได้อย่างง่ายดายเสมอ
อาจารย์เน้นมาก…ว่า ชีวิตที่แท้นั้น.. เราทุกคน ต้องมีความรู้สึก เราต้องใช้หัวใจ จิตวิญญาณ หากเรามีเพียงความคิด ใช้แต่เหตุผล เราก็ไม่ต่างจาก หุ่นยนต์ เครื่องจักร
เราจะชีวิตที่ครบถ้วน บริบูรณ์แค่ไหน ตราบเท่าที่เรารู้สึกตัว ได้ดีเท่านั้น
เติบโต งอกงาม
อีกแรงบันดาลใจสำคัญของอาจารย์บอมส์และทีม ในการทำงานกับการสร้างองค์กรมีชีวิต ก็คือ การสร้างการศึกษาที่แท้จริงของมนุษย์ อาจารย์เล่าให้ฟังว่า ได้เห็นพลังของการเรียนรู้ที่น่าทึ่งจากลูกๆ และเพื่อนของเขา เราทุกคนเริ่มต้นชีวิตด้วยพลัง มีความซุกซนอย่างมากจะอยากรู้อยากเห็น อยากลอง จนเมื่อเด็กน้อยได้ถูกตีกรอบ ห้ามนั่น ห้ามนี่ พลังการเรียนรู้และจินตนาการของพวกเขาจึงค่อยๆ ถูกลักพาตัวไป
“น่าเสียดาย ที่เราแยกการเรียนรู้ การศึกษาออกไปจากชีวิต คนในวัยทำงานจำนวนไม่น้อยหยุดชะงัก พัฒนาการของตนเองไป พวกเขาเอาแต่ก้มหน้าก้มตาทำงานให้เสร็จ แต่กลับไม่ได้เรียนรู้”
องค์กรมีชีวิต เชื่อว่า มนุษย์มีวิวัฒนาการ นวัตกรรมในตนเองอยู่แล้ว เพียงแต่พวกเขาไม่ได้ถูกสอนให้เรียนรู้ หาคำตอบให้เป็น วิธีการเรียนรู้ที่ระบบการศึกษา และองค์กรจัดให้ ตีกรอบให้พวกเขาเอาแต่ท่องจำ ทำตาม อยู่กับคำตอบ การกระทำ ที่เป็นสูตรสำเร็จ
องค์กรมีชีวิต เข้าใจเรื่องนี้ดี จึงเน้นให้ความสำคัญกับ การสร้างสภาพแวดล้อม จัดระบบนิเวศที่ช่วยอำนวย ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง (Authentic Learning) ช่วยให้พวกเขาได้เก็บเกี่ยว เรียนรู้จากสิ่งรอบตัวในชีวิต และร่วมกันคิด สร้างสรรค์ ลงมือทำสิ่งใหม่ๆ ต่อยอดไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ
“ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราตรงหน้า คือ ห้องเรียนชั้นดี ที่หาไม่ได้จากที่ไหนเลย ถ้าเราเรียนรู้เป็น เรา(ทั้งหมด) จะเก่งขึ้น เติบโตขึ้น ตลอดเวลา”
ในองค์กรมีชีวิต จะเน้นการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ (Experiential Learning) พวกเขาจะสมาชิกมาลองสิ่งใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ให้สมาชิกได้ออกจากการทำงาน การเล่น ของเล่น(การงาน) เดิมๆ ซึ่งอาจารย์บอมส์ ใช้คำว่า “ออกผจญภัย” เมื่อพวกเขาเรียนรู้เป็น และมีสภาพแวดล้อม ระบบที่ส่งเสริม องค์กรแบบนี้จึงเกิดการเรียนรู้และพัฒนาอยู่อย่างต่อเนื่อง …..พลังความซุกซน ที่อยากรู้อยากเห็น อยากลอง ในความเด็กน้อยของสมาชิกทุกคน ที่เคยถูกลักพาตัว ก็กลับมาสดใด และสร้างความสดใหม่อีกครั้ง
เส้นแบ่งที่หายไป สู่หัวใจหนึ่งเดียว
องค์กรแบบเก่า จะแบ่งชั้น แบ่งฝ่าย แบ่งตำแหน่ง และแบ่งการงาน กับ ชีวิต หรือแม้กระทั่ง แบ่งเหตุผล และความรู้สึก ออกจากกัน เราต่างหลงไปสวม “หน้ากากของความเป็นมืออาชีพ”(Professional Mask) ที่พยายามให้เราเชื่อว่าเช่นนั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ชีวิตของเราแต่ละคน ซับซ้อนกว่านั้น เรามีชีวิตที่กว้าง เรามีชีวิตน้อยๆของเราที่ต้องดูแล เรามีครอบครัว คนรัก มีเพื่อนฝูง และมีอีกหลากหลายมุม ที่เป็นเรา
“เราต้องคอยซ่อนแอบตัวตนด้านอื่นๆ ของเราไว้ และเลือกแสดงตัวตนที่ องค์กร อยากเห็น อยากให้เราเป็น แต่เชื่อไหมว่า สิ่งที่เราไม่ได้อนุญาตให้แสดง เปิดเผย มีผลมากๆ ต่อผลงานและการเติบโตขององค์กร”
อาจารย์บอมส์เล่าว่า ในองค์กรมีชีวิต ให้ความสำคัญมากกับการรู้จัก “ตัวตน”(Self) ของสมาชิก พวกเขาจะเปิดพื้นที่ ต้อนรับตัวตนของทุกคน และค่อยๆ สร้างพื้นที่ วัฒนธรรม ที่ชวนให้ทุกคนนำความหลากหลาย(Diversity) มาแบ่งปัน เรียนรู้ แม้กระทั่งความเปราะบาง (Vulnerable) เมื่อทุกคนรู้สึกถึงความเป็นส่วนหนึ่ง มีความรู้สึกร่วมกัน ความแตกต่างเหล่านั้น จึงค่อยๆ ร้อยเรียงเป็นสิ่งเดียวกัน
เราจะเห็นกิจกรรมน่ารักๆ ในวิถีองค์กรแบบนี้ เช่น กิจกรรมสายธารของชีวิต (The River of Life) ที่ให้สมาชิกแต่ละคนได้เล่าถึงเส้นทางชีวิตของเขา โดยมีสมาชิกทุกคนที่รับฟัง เรียนรู้ด้วยความเคารพ และในหลายองค์กร ได้ออกแบบให้สมาชิกได้รู้จักตัวตนของตนเอง ที่ค่อยๆ ลึก และกว้างขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่การรับสมัคร การสัมภาษณ์ (Recruit & Interview) รวมถึงการดูแลในช่วง Onboarding
องค์กรมีชีวิต
“การพูดคุยแบบเก่า มีแต่ลดทอนพลังชีวิต และความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เราไม่ค่อยก้าวไปไหน ในการพูดคุยที่เอาแต่เร่งรีบ และฟังแต่เสียง หรือ คำตอบที่เราได้เตรียมไว้แล้ว(เฉลย) การคุยที่ก้าวหน้า ต้องเริ่มได้ยินสิ่งที่เราไม่รู้”
ประเด็นสุดท้ายที่ อาจารย์บอมส์แบ่งปันทิ้งท้ายไว้ ก็คือ การสร้างพื้นที่ทีมีชีวิต (Living Space) ที่กระจายตัวไปอย่างทั่วถึงในองค์กร โดยมี 2 เรื่องที่สำคัญ เรื่องแรกคือ การสร้างการพูดคุย สนทนากันอย่างมีคุณภาพ เป็นบทสนทนาที่มีชีวิต (A Living Conversation) คนทำงานจำนวนมากเบื่อหน่ายการ ประชุม พูดคุย ที่ห้ำหั่น เอาชนะกัน พวกเขารู้สึกว่ากิจกรรมการพูดคุย การประชุมเป็นสิ่งที่ทำให้เขาเสียเวลา และยุ่งยากขึ้น ทั้งที่ความจริงแล้ว พื้นที่การสนทนานั้นสำคัญอย่างมาก กับการสร้างพลังร่วม พลังการเรียนรู้ และพลังปัญญา ที่ขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้า
“บทสนทนาที่พูดคุยกันด้วยคุณภาพของการฟัง และการดำรงอยู่ร่วมกัน จะมอบพลังชีวิตและปัญญาที่นำไปสู่คำตอบใหม่ๆ เสมอ”
ในองค์กรมีชีวิตจะให้เวลากับการสนทนา ที่สมาชิกมาร่วมใช้เวลาร่วมกัน ค่อยๆฟังเสียงความเป็นไปได้ และสัญญาณบางอย่างที่นำทางพวกเขา รวมถึงการได้ทบทวน มองหาสิ่งที่คุณค่าจากงาน และแรงบันดาลใจ
และเรื่องสุดท้าย ที่ทิ้งท้ายไว้ ก็คือ การสร้างเกม ที่เปิดให้สมาชิกทุกคนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนา ผลักดันผลงาน การเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กร (Co-Create Values / Inspiring Performance Management)
“องค์กรที่ชาญฉลาด จะไม่เสียเวลาไปนั่งวัดผล สมาชิกอย่างจุกจิก หยุมหยิม แต่เขาจะสร้างเกม ที่ชวนให้ทุกคนอยากลงเล่นด้วยกัน สร้างชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ มากกว่าเล่นคนเดียวอย่างไร้เพื่อน”
ผลพวงของระบบเก่า ได้แช่แข็งความสร้างสรรค์ของมนุษย์ พวกเขาถูกระบบตรวจวัด ประเมิน มากีดกันความสามารถ ศักยภาพที่แท้จริง PMS และ JD แบบเก่า ถูกสร้างเพื่อควบคุม ไม่ใช่ให้อิสระ จึงเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับธรรมชาติของมนุษย์ และเมื่อสมาชิกได้มองเห็นคุณค่า ศักยภาพในตนเอง และได้เชื่อมต่อตัวเขากับความตั้งใจขององค์กร พวกเขาจะค่อยช่วยกันสร้างสิ่งที่มีคุณค่า ที่ค่อยๆ ขยาย ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เป็นประเด็นทิ้งท้ายที่เชิญชวนมากๆ ทั้งหมดที่ได้ฟังการแบ่งปันจากอาจารย์ ไม่ใช่ เรื่องที่เป็นอุดมคติอีกต่อไป มีตัวอย่าง และการทำจริงที่เกิดผลมากมายในโลก ทางทีม Excellent People ชวนผู้อ่านและแฟนคลับค่อยๆ ติดตาม Journey เรื่องราวขององค์กรมีชีวิต ไปเรื่อยๆ ที่นี่
ขอบคุณการแบ่งปันประสบการณ์
โดย อ.บอมส์ นราวิทย์ นาควิเวก Co-Founder of Excellent People / Organizational Evolution Facilitator / Consultant